Last updated: 7 เม.ย 2563 | 307942 จำนวนผู้เข้าชม |
แนวทางการปลูกเมล่อน เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมบริโภคกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีรสชาติดี เนื้อนุ่ม หวานฉ่ำและมีกลิ่นหอม แนวทางการปลูกเมล่อนญี่ปุ่นคลิ๊ก นอกจากนั้นเมล่อนญี่ปุ่นพันธุ์หนักที่มีลายตาข่ายสวยงามยังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก อาทิพันธุ์ คิโมจิ คูนามิ และ โมมิจิ
สีของเนื้อผลยังมีหลากหลาย ทั้งขาว ครีม เหลือง เขียว ส้มและแสด ที่ชวนให้น่ารับประทานมายิ่งขึ้น จัดเป็นทั้งผลไม้และผัก ขึ้นกับลักษณะของการนำไปใช้บริโภค ซึ่งมีทั้งใช้บริโภคสดในรูปผลไม้ หรือใช้เป็นส่วนประกอบในสลัดผัก เป็นเครื่องเคียงในอาหารหากหลายจาน เนื่องจากมีรสชาติที่อร่อยและรูปลักษณ์ที่สวยงาม นอกจากนี้ยังใช้ประกอบของหวานและเครื่องดื่มหลายชนิด อาทิเช่น ฟรุ๊ตสลัด ไอศกรีม น้ำแข็งไส และน้ำผลไม้ปั่น เป็นต้น
โมมิจิเมล่อนญี่ปุ่น โดย บ้านสวนพิศิษฐ อ.บ้านแพร้ว จ. สมุทรสาคร
สำหรับการปลูกเมล่อนนั้นปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพืชที่มีผลตอบแทนต่อพื้นที่การปลูกสูงมากที่สุด (ณ เวลาที่เขียนบทความนี้) ใช้พื้นที่ปลูกไม่มาก ใช้น้ำน้อย ปลูกได้ทุกฤดูกาล และทุกพื้นที่ในประเทศไทย
การขายผลเมล่อนญี่ปุ่นนั้นโดยมากมักจะขายตามน้ำหนักของผล สำหรับเมล่อนญี่ปุ่นพันธุ์ คิโมจิ คูนามิ และ โมมิจิ จะขายกันในราคาตั้งแต่ 150-200 บาท ต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับที่ตั้ง ความเป็นที่นิยมและกลุ่มลูกค้าของแต่ละฟาร์มนั้นเอง ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่สูงกว่าเมล่อนหรือแคนตาลูปพันธุ์อื่นๆ ดังนั้นเมล่อนญี่ปุ่น จึงจัดเป็นพืชที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างดีในเวลาอันสั้น กล่าวคือใช้เวลานับตั้งแต่ยอดเมล็ดถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตเพียงแค่ 90 วัน แต่อย่างไรก็ตามการปลูกเมล่อนญี่ปุ่นนั้นต้องอาศัยความเข้าใจและการดูแลอย่างใกล้ชิด
ลูกค้าที่ต้องการปรึษาแนวทางการปลูกและเทคนิค
สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจาก หจก. เฟรนชิพซีดได้ ฟรี คลิ๊ก
Line: @FsSeeds
ความเป็นมา
เมล่อน เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศ ในแถบทวีปแอฟริกา นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยนานแล้ว เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์แตง และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucumis melo L. ซึ่งมีอยู่หลายวาไรตี้ (variety) หรือ ชนิด (group) แต่ที่ปลูกเป็นพืชเพื่อการบริโภคมีอยู่ 3 วาไรตี้ ได้แก่
1. วาไรตี้ แคนตาลูปเพนซิส (Cantaloupensis) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า C. melo L. var. cantalupensis มีชื่อเรียกทั่วไปว่า ร็อคเมลลอน (Rock melon) เพราะผลมีผิวแข้ง ขรุขระ แต่ไม่ถึงกับเป็นร่างแห
2. วาไรตี้ เรติคูลาตัส (Reticulatus) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า C. Melo L. var. reticulatus มีชื่อเรียกทั่วไปว่า เน็ดท์เมลอน (netted melon) มัสค์เมลอน (muskmelon) หรือ เปอร์เซียนเมลอน (persian melon) เป็นชนิดที่ผิวนอกของผลลักษณะขรุขละเป็นร่างแหคลุมทั้งผล และผลมีกลิ่นหอม เนื้อผลเป็นสีเขียว หรือสีส้ม และพันธุ์เมล่อนญี่ปุ่น คิโมจิ คูนามิ และโมมิจิ ก็นับว่าอยู่ในวาไรตี้นี้ด้วย
3. วาไรตี้ อินอะดอรอส (Inodorous) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า C. melo L. var. inodorous ผิวของผลเรียบ และมักไม่มีกลิ่นหอม ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงพันธุ์เมล่อนโดยการผสมภายในกลุ่มและการผสมข้ามระหว่างกลุ่มจนได้พันธุ์เมล่อนที่มีลักษณะผสมกันระหว่างกลุ่มต่างๆ และเป็นพันธุ์ลูกผสม (F1 hybrid) มากมาย
สำหรับพันธุ์เมล่อนที่มีปลูกในประเทศไทยและวางจำหน่ายในท้องตลาด ต้องเป็นพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงให้มีความเหมาะสมเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้ สำหรับพันธุ์ คิโมจิ คูนามิ และโมมิจิ นั้นได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์มาอย่างยาวนานกว่า 3 ชั่วอายุคนในประเทศญี่ปุ่น และปรับปรุงเพื่อให้ปลูกในประเทศไทยมามากว่า 10 ปี ทำให้เมล่อนญี่ปุ่น คิโมจิ คูนามิ และโมมิจิ สามารถปลูกได้อย่างดีทั่วทุกภูมิภาคของไทย
เมล่อน เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบร้อนของทวีปแอฟริกา จึงไม่ชอบอากาศหนาวเย็นจัด แต่ชอบอากาศอบอุ่น แต่ไม่ร้อนจัด อุณหภูมิที่เหมาะสำหรับการปลูกแตงอยู่ที่ 25- 35 องศา แต่ไม่เกิน 43 องศาเซลเซียสในเวลากลางวัน และ 18-20 องศาเซลเซียส ในเวลากลางคืน ดังนั้นฤดูกาลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกเมล่อนในประเทศไทยจึงเป็นปลายฤดูฝนหรือฤดูฝนหนาว สำหรับฤดูการอื่นๆ นั้นเราก็สามารถปลูกเมล่อนญี่ปุ่นได้เช่นกัน แต่จะต้องดูแลมากกว่าปกติซักเล็กน้อย
หากเมล่อนเจอกับอากาศหนาวเย็นจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโตได้ตั้งแต่ระยะต้นกล้า การออกดอกติดผลจะล่าช้า และถ้าอากาศยิ่งหนาวจัด ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ต้นเมล่อนอาจจะหยุดการเจริญเติบโตได้ ในทางกลับกันต้นเมล่อนก็ไม่ชอบอากาศที่ร้อนจัดจนเกินไป ถ้าอุณหภูมิเกินกว่า 40-43 องศาเซลเซียส เมล่อนมักจะสร้างแต่ดอกตัวผู้ ไม่มีดอกตัวเมีย หรือถ้ามีดอกตัวเมียก็จะร่วงง่ายไม่ติดผล ปัญหาจากสภาพแวดล้อมของอากาศที่สำคัญสำหรับการปลูกเมล่อนอีกประการหนึ่งคือฝน
ถ้าต้นเมล่อนถูกน้ำฝนบ่อย หรือสภาพในโรงเรือนมีความชื้นสูง อาจทำให้เกิดโรคราน้ำค้างได้ เนื่องจากเมล่อนเป็นพืชที่มีใบกว้าง ใหญ่และมีขน เมื่อสัมผัสกับน้ำฝนจะเกิดหยดน้ำค้างบนใบอยู่เสมอ แห้งยาก จึงเป็นสภาพที่อำนวยให้เกิดการเข้าทำลายของเชื้อราน้ำค้างบนใบได้ร่วมกับสภาพอากาศที่เย็นและชื้นหลังฝนตก โรคนี้จึงระบาดมากในฤดูฝน เป็นโรคสำคัญที่ทำความเสียหายมากสำหรับพืชในวงศ์แตง จึงต้องดูแลควบคลุมมิให้เกิดการระบาดตั้งแต่เนิ่นๆ และหากสามารถควบคุมได้ ทั้งโรคจากเชื้อรา และจากแมลงต่างๆ โดยการวางแผนการปลูก (เว้นระยะห่างให้มากกว่าฤดูอื่นๆ) และการมีวินัยในการป้องกันที่ดีแล้วก็จะสามารถสร้างผลผลิตได้ไม่ต่างจากฤดูกาลอื่นๆ
S.C. Farm & Cafe จ. ฉะเชิงเทรา
แนวทางการปลูกเมล่อนพื้นฐาน
ดินหรือวัสดุปลูกที่เหมาะสำหรับการปลูกเมล่อนญี่ปุ่น ควรเป็นดินร่วนปนทราย ที่มีการระบายน้ำได้ดี ควรหลีกเลี่ยงการปลูกเมล่อนญี่ปุ่นในพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวจัด ที่มีการระบายที่ไม่ดี ทำให้มีโอกาสเกิดโรคเน่าในระบบรากได้ง่าย และยังเป็นที่สะสมของโรคทางดิน ติดต่อไปยังฤดูต่อไป รวมทั้งยากต่อการลดความชื้นในดินก่อนเก็บเกี่ยว หรือ ปลูกในวัสดุปลูกแบบซับสเตรตคัลเจอร์ (substrate Culture) เป็นอีกแนวทางการปลูกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการปลูกเมล่อนในประเทศไทย เนื่องจากสามารถควบคุมการให้สารอาหาร ปริมาณน้ำ คุณสมบัติของวัสดุปลูกได้อย่างแม่นยำ สำหรับรายละเอียดการปลูกในรูปแบบนี้ www.rukkla.com จะนำมาเสนอในโอกาศถัดไป
ค่าความเป็นกรด - ด่าง (pH) ของดินหรือวัสดุปลูก รวมไปถึงน้ำที่ใช้ ควรอยู่ที่ 6.0 - 6.5 ถ้ามีค่าต่ำกว่านี้แสดงว่าดินมีสภาพเป็นกรด ต้องทำการปรับค่าความเป็นกรด - ด่าง ของดินให้สูงขึ้นด้วยปูนขาว มิฉะนั้นจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเน่าของระบบรากในดินได้ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ไม่แนะนำให้ปลูกเมล่อนซ้ำในพื้นที่เดิมในฤดูติดกันหลายฤดู(กรณีปลูกในดิน หากปลูกใวัสดุปลูกให้ทำการล้างทำความสะอาดวัสดุหรือเปลี่ยนใหม่) เพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดของโรคทางดินที่อาจสะสมอยู่จากการปลูกในฤดูที่ผ่านมา
1. การเพาะเมล็ด
การเพาะเมล็ดในกะบะเพาะหรือถุงเพาะเมล็ดก่อนแล้วจึงย้ายปลูกจึงเป็นวิธีที่แนะนำมากที่สุด เมล็ดพันธุ์ที่ซื้อจากบริษัทเมล็ดพันธุ์ มักมีการงอก ความบริสุทธิ์สูง และปลอดจากเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ด สามารถนำมาเพาะได้ทันที แต่ในกรณีที่ต้องการกระตุ้นให้เมล็ดงอกได้ดีและเร็วขึ้น
ให้แช่เมล็ดในน้ำหรือน้ำอุ่น สูงพอท่วมเมล็ด ประมาณ 3-4 ซม. จากนั้นหุ้มด้วยผ้าเปียกหมาดๆ ต่ออีก 1 คืน สังเกตว่าเมล็ดจะมีรากขาวเริ่มงอกออกมาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร แล้วค่อยนำไปเพาะต่อในวัสดุเพาะ แล้วจึงรดด้วยสารละลายป้องกันกำจัดเชื้อราเจือจาง
การเตรียมวัสดุเพาะกล้า ปัจจุบันวัสดุเพาะกล้าที่ให้ผลดีที่สุดได้แก่ พีทมอส ซึ่งเป็นวัสดุที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีราคาแพงกว่าวัสดุเพาะกล้าภายในประเทศทั่วไป มีลักษณะเบา อุ้มน้ำ ได้ดี แต่มีช่องว่างให้มีอากาศที่จำเป็นสำหรับการงอกของเมล็ดและการเจริญเติบโตของต้นกล้าหลังงอก ที่สำคัญในพีทมอสนี้ยังมีธาตุอาหารในรูปของอินทรีย์วัตถุที่ย่อยสลายตัวแล้วให้กับต้นกล้าได้ใช้ในการเจริญเติบโตได้ดีในระยะแรก ต้นมีความแข็งแรงและพร้อมที่จะย้ายกล้าต่อไป นอกจากนี้ พีทมอส ปลอดจากเชื้อโรคทางดินต่างๆ จึงเป็นวัสดุเพาะกล้าที่ให้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน
การเตรียมถาดเพาะกล้า หรือถุงพลาสติกเพาะกล้า ทำการหยอดเมล็ดลงในกระบะหรือถุงเพาะหลุมละ 1 ต้น ให้ลึกประมาณ 2 ซม. กลบเมล็ดด้วยวัสดุเพาะชนิดเดียวกัน รดน้ำให้ชุ่ม ก่อนนำไปวางไว้ในที่ร่ม รำไร ไม่ให้โดนแสงแดดจัดโดยตรง ในระหว่างการอนุบาลต้นกล้าเมล่อน จะต้องรักษาความชื้นในวัสดุปลูกให้สม่ำเสมอ คงที่ ถ้าวางไว้นอกโรงเรือน ในที่กลางแจ้งควรใช้ฟางข้าวคลุมเหนือผิววัสดุปลูกเพื่อช่วยเก็บความชื้น ไม่ให้ระเหยออกไปจากวัสดุปลูกอย่างรวดเร็วจนทำให้วัสดุปลูกนั้นแห้งเร็วเกินไป รอจนกระทั่งเมล็ดเริ่มงอกและมีใบจริงสีเขียวจึงค่อยๆ ทะยอยเปิดฟางข้าวออกให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทีละน้อย ตามอายุการเจริญเติบโต มิฉะนั้นต้นกล้าจะมีปล้องที่ยึดยาวหาแสงทำให้ลำต้นผอมบาง ไม่แข็งแรง และอย่าลืมว่าควรเพิ่มปริมาณน้ำที่ให้แก่ต้นกล้าให้มากขึ้นเมื่อต้นกล้าโตขึ้นตามลำดับ ขนาดของกระบะเพาะกล้าในปัจจุบันมีหลายขนาด สามารถเพาะกล้าให้เมล็ดงอกได้ดีพอกัน แต่การเลืกกระบะที่มีขนาดใหญ่กว่าจะได้เปรียบตรงที่มีปริมาณวัสดเพาะต่อต้นกล้าและได้ระยะห่างระหว่างต้นกล้าด้วยกัน มากกว่าของกระบะที่มีขนาดเล็กกว่า ทำให้ได้ต้นกล้าภายหลังการงอกที่ได้จากกระบะเพาะที่มีขนาดเล็กกว่า ขนาดของต้นกล้าที่แข็งแรงพอที่จะย้ายปลูกได้ คือที่มีใบจริงประมาณ 2 - 3 ใบ
2. การเตรียมแปลงปลูกและย้ายกล้า
การปลูกภายนอกโรงเรือน ก่อนอื่นควรมีการเก็บตัวอย่างดินจากแปลงที่จะปลูกไปตรวจเพื่อให้ทราบคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี (โครงสร้างดิน ความเป็นกรด - ด่าง ความเค็ม และปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน) การเตรียมพื้นที่ควรเริ่มต้นด้วยการไถดะในระดับความลึกไม่น้อยกว่า 60 ซม. ซึ่งเป็นความลึกที่อย่างน้อยต้องมีให้รากเมล่อนชอนไซหาอาหารได้สะดวก จากนั้นจึงทำการไถแป เพื่อย่อยดินให้ละเอียด แต่ถ้าในกรณีที่เนื้อดินเป็นดินเหนียวจัดไม่ควรย่อยดินให้ละเอียดมากเกินไป แล้วจึงใส่ปูนขาวตามคำแนะนำของผลการวิเคราะห์ดิน(ถ้ามี) ต่อมาให้ทำการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก ในอัตรา 1,500 - 2,000 กก.ต่อไร่ ทำการพรวนดินอีกครั้งเพื่อคลุกเคล้าให้ปุ๋ยคอกผสมกับดินให้ทั่ว ยกแปลงสูง 30 ซม. หรือ 40 ซม. สำหรับฤดูฝน กว้างประมาณ 1 - 1.20 ม. มีความยาวตราความยาวของพื้นที่สำหรับการปลูกแบบแถวคู่ เว้นร่องน้ำกว้าง 0.80 ม. ก่อนปลูกใส่ปุ๋ยรองพื้นด้วยปุ๋ยเคมี 15 - 15 - 15 จำนวน 50 กก./ไร่ โดยโรยเฉพาะบนแปลง และพรวนดินเพื่อพลิกให้ปุ๋ยลงสู่ดินล่าง หากต้องการป้องกันวัชพืช ควรคลุมแปลงด้วยพลาสติกคลุมแปลงกลบชายพลาสติกด้วยดินข้างแปลงให้เรียบร้อย เจาะรูบนพลาสติกเป็ฯ 2 แถว ตามความยาวแปลง ระหว่างแถวห่างกัน 80 ซม. และระหว่างหลุมในแถวห่างกัน 0.5 ซม. ในพื้นที่ 1 ไร่ หรือ 1,600 ตร.ม. จะสามารถปลูกได้ 3,200 ต้น สำหรับในพื้นที่ที่หาฟางข้าวได้ง่ายอาจใช้ฟางข้าวคลุมแปลงแทนการใช้พลาสติกเพื่อการประหยัด ยกเว้นในฤดูฝนควรหลีกเลี่ยงการใช้ฟางคลุมดิน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเน่าที่โคนต้นและระบบรากจากเชื้อราที่ติดมากับฟาง
การปลูกในโรงเรือน ในการปลูกเมล่อนในโรงเรือนช่วยให้สามารถปลูกเมล่อนได้ในฤดูฝนโดยที่ไม่ต้องกลัวการระบาดของโรคทางใบ แต่ก็ต้องใช้การลงทุนที่สูงกว่า จึงควรใช้เป็นวิธีการปลูกเมล่อนพันธุ์ที่มีราคาแพง เพื่อผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน วิธีการปลูกในโรงเรือนนั้นสามารถปลูกลงในดินหรือปลูกในวัสดุปลูกที่อยู่ในภาชนะหรือกระถาง แต่การปลูกลงในกระถางจะมีข้อดีกว่าตรงที่ สามารถใช้ระยะปลูกที่ชิดกว่าการปลูกลงดินและเป็นวิธีนี้ยังช่วยให้สามารถปลูกเมล่อนต่อเนื่องในฤดูติดกัน เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องของการระบาดของโรคทางดินเนื่องจากปลูกในกระถางที่ใช้วัสดุปลูกที่มีความสะอาดหรือผ่านการฆ่าเชื้อให้ปลอดภัยมาแล้ว ในกรณีที่ปลูกมนกระถางขนาด 12 นิ้ว ให้วางกระถางแบบแถวคู่ ภายในแถวคู่ที่ระยะห่างระหว่างกระถางในแถว 50 ซม. ระยะห่างภายในแถวคู่ 80 ซม. และระยะระหว่างแถวคู่เท่ากับ 1.5 ม. ในโรงเรือนที่มีพื้นที่ 360 ตร.ม. จะปลูกได้ 1,000 ต้น วัสดุปลูกที่ใช้สามารถใช้ได้หลายชนิด ถ้าใช้วัสดุจากต่างประเทศ ได้แก่ พีทมอส หรือ ภูมิส สามารถใช้วัสดุ ชนิดใดชนิดหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว หรือ ถ้าใช้วัสดุภายในประเทศ เช่น ขุยมะพร้าว ถ่านแกลบ ทราย ให้นำผสมกันเสียก่อน ในอัตราเช่น ขุยมะพร้าว : ถ่านแกลบ : ทราย : ในอัตรา 1 : 1 : 1 เป็นต้น ไม่ควรใช้ขุยมะพร้าว แกลบดิบ ทราย หรือถ่านแกลบ เพียงอย่างใด อย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว เพราะวัสดุภายในประเทศเหล่านี้โดยตัวเองเพียงอย่างเดียว ยังไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืช เมื่อเตรียมแปลงและหลุมปลูก หรือ กระถางบรรจุวัสดุปลูกเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการย้ายต้นกล้าเมล่อนที่เตรียมไว้ลงปลูก หลังปลูก รดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้ความชื้นแก่ต้นกล้าและให้ดินกระชับรากต้นกล้า
ในกรณีของการปลูกในโรงเรือนต้องวางระบบน้ำหยดและติดตั้งหัวน้ำหยดที่แต่ละกระถางปลูก การปฏิบัติดูแลรักษา เมล่อนเป็นพืชที่ต้องการการปฏิบัติเป็นพิเศษแตกต่างจากพืชอื่นๆ ในหลายขั้นตอน นับตั้งแต่การให้น้ำและใส่ปุ๋ย การขึ้นค้าง การตัดแต่งกิ่ง
3. การดูแลรักษาระหว่างการพัฒนาของผล
การขึ้นค้าง เมล่อนเป็นพืชที่มีลำต้นเป็นเถาเลื้อย ในการใช้ระยะปลูกชิดแบบปัจจุบันจึงต้องบังคับให้เถาเมล่อนเลื้อยขึ้นด้านบนโดยการจัดค้างให้เถาเมล่อนได้เกาะโดยหลังจากปลูกได้ประมาณ 14 วัน ต้องมีการปักค้างให้กับต้นเมล่อน ไม้ค้างควรมีความสูงจากผิวดินหลังการปักลงดินแล้วไม่น้อยกว่า 1.80 ซม. ในกรณีปลูก 2 แถว อาจผูกไม้ค้าง 2 ฝั่ง เข้าหาเป็นกระโจมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้มากขึ้นก็ได้ และระหว่างไม้ค้างที่ปักในแนวตั้งให้ยึดด้วยไม้ค้างตามแนวนอนทั้งบนและล่างอีกตลอดความยาวของแปลง ไม้ค้างที่ใช้อาจเป็นไม้ไผ่รวก ไม้กระถิน หรือ อื่นๆ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นและมีราคาถูก ต้นเมล่อนทุกต้นต้องมีที่ยึดเกาะให้ลำต้นเลื้อย หากไม่สามารถลงทุนซี้อไม้ค้างให้กับต้นแตงทุกต้นได้ สามารถลดต้นทุนโดยการปักไม้ค้าง้ป็นช่วงห่างกัน 2 - 2.5 ม. และหาเชือกไนลอน หรือเชือกอื่นที่มีความแข้งแรงพอที่จะรับน้ำหนักต้นเมล่อนได้ โดยจะแนะนำให้ใช้เชือกฝ้าย เพราะจะไม่ทำให้บาดกับลำต้นของต้นเมล่อนจนเกิดแผล ซึ่งอาจเป็นสาเหตุการเกิดเชื้อราเข้าสู่ลำต้น
ผูกโยงที่บริเวณปลายของไม้ค้างแต่ละอันให้ตึงและบนเส้นเชือกตำแหน่งที่ตรงกับต้นเมล่อนให้ผูกเชือกห้อยลงมายาวจรดดิน ในการเริ่มต้นให้ต้นแตงเกาะกับหลักหรือเชือกจะต้องช่วยบังคับโดยการผูกต้นเมล่อนกับหลักหรือเชือก ทุกๆ ข้อเว้นข้อ ก่อนในระยะแรก ถ้าเป็นเชือกให้เวียนเชือกรอบเมล่อนด้วย เพื่อให้เชือกสัมผัสและรับน้ำหนักและพยุงเมล่อนไว้ได้ การเลี้ยงลำต้นและกิ่งแขนง หลังจากปลูกเมล่อนได้ระยะหนึ่ง เมล่อนจะเริ่มมีการแตกกิ่งแขนงออกมา ให้ปลิดกิ่งแขนงที่เกิดขึ้นต่ำกว่าข้อที่ 8 และสูงกว่าข้อที่ 12 ออกเสียโดยปลิดแขนงออกตั้งแต่ยังมีขนาดเล็กและปล่อยกิ่งแขนงที่เกิดขึ้นระหว่าง ข้อที่ 8 - 12 ไว้ให้เป็นที่เกิดของดอกตัวเมียที่จะติดเป็นผลต่อไป
ทำการแต่งกิ่งแขนงโดยตัดปลายยอดทิ้งให้เหลือใบเพียง 2 ใบ เท่านั้น คือใบที่ใกล้กับข้อแรกที่จะเกิดดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศ และใบที่ข้อถัดขึ้นไป ปล่อยให้มีดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เกิดขึ้นเพียงแขนงละ 1 ดอก เท่านั้น และเมื่อต้นเมล่อนเจริญเติบโตจนถึง 25 ข้อ ให้ตัดปลายยอดของต้นออกเสีย เพื่อหยุดการเจริญเติบโตทางด้านลำต้น นอกจากนี้ให้เด็ดใบล่างสุดออกอีก 3 - 5 ใบ ที่ไม่ค่อยได้รับแสงแดดออกไป เพื่อทำให้ต้นโปร่งเพิ่มการถ่ายเทของอากาศ ไม่ให้เกิดการสะสมของความชื้นที่ชักนำให้เกิดโรคราต่างๆ
การผสมเกสรและการไว้ผล เมล่อนเป็นพืชที่มีดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่กันคนละดอกแต่เกิด อยู่บนต้นเดียวกัน หรือบางพันธุ์มีดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศอยู่บนต้นเดียวกันก็มี โดยดอกเพศผู้จะเกิดก่อนและเกิดเป็นช่อที่มุมระหว่างก้านใบกับลำต้น หรือ ลำต้นกับกิ่งแขนง ส่วนเพศเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศจะเกิดทีหลังและเกิดเป็นดอกเดี่ยว ที่ข้อแรกหรือข้อที่สองของกิ่งแขนง โดยปกติเมล่อนเป็นพืชผสมข้าม จำเป็นที่ต้องที่การผสมเกสรจากภายนอกโดยแมลงหรือมนุษย์จึงจะติดเป็นผลได้ ดังนั้นในการปลูกเมล่อนจึงจำเป็นต้องมีการช่วยผสมเกสรให้กับดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศ การผสมเกสรต้องกระทำเมื่อดอกบาน ในตอนเช้า ตั้งแต่เวลา 06.00 - 10.00 น. ในขณะที่อากาศยังมีอุณหภูมิไม่ขึ้นสูง หลังจากนั้นดอกตัวเมียจะหุบไม่รับการผสมอีกต่อไป
วิธีการผสมเกสรทำโดย นำเด็ดดอกตัวผู้ที่บานในวันนั้นจากต้นใดก็ได้ นำมาปลิดกลีบดอกออกให้หมดเหลือแต่ละอองเกสรตัวผู้ที่สังเกตเห็นว่ามีละอองเกสรตัวผู้เกาะติดอยู่เต็มไปหมด แล้วนำมาคว่ำและเตาะลงที่ยอดของดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศ ที่บานในวันนั้นให้ทั่วโดยรอบดอก ทะยอยผสมเกสรให้ดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศที่เกิดอยู่บนกิ่งแขนงที่เกิดบนข้อที่ 8 - 12 ซึ่งจะบานไม่พร้อมกันจึงต้องใช้เวลาหลายวัน จึงจะผสมครบทั้ง 5 ดอก เมื่อเริ่มติดเป็นผลอ่อนขนาดเท่าไข่ไก่ จึงทำการเลือกผลที่สมบูรณ์ที่สุดไว้เพียงผลเดียว โดยดูจากผลที่รูปร่างสมบูรณ์ไม่บิดเบี้ยว และมีขั้วผลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่เหลือให้ปลิดทิ้ง
หลังติดผล 2 สัปดาห์ให้เริ่มใช้เชือกผูกที่ขั้วผลโยงไว้กับค้างเพื่อช่วยพยุงและรับน้ำหนักผลที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อไปจากนั้นให้รีบห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ให้มิดชิดเพื่อป้องกันการเข้าทำลายของแมลงวันทอง การให้น้ำ ต้นเมล่อนเป็นพืชที่มีใบใหญ่คายน้ำมากจึงต้องการน้ำมากในแต่ละวัน นับจากหลังจากย้ายปลูกแล้ว ความต้องการน้ำของต้นเมล่อนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมล่อนเริ่มออกดอกและติดผลจะเป็นช่วงที่เมล่อนมีปริมาณความต้องการน้ำสูงที่สุด การให้น้ำแก่เมล่อนจึงต้องเพิ่มปริมาณการให้น้ำแก่ต้นเพิ่มมากขึ้นทุกสัปดาห์ จนถึงระยะออกดอกและติดผลจึงให้น้ำในปริมาณที่คงที่ได้ ปริมาณน้ำที่ต้องให้แก่ต้นเมล่อนนั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ถ้าปลูกเมล่อนในช่วงที่อากาศร้อนจัด ในฤดูร้อนจัดและอากาศแห้งแล้ง ความต้องการน้ำของต้นเมล่อนในช่วงเริ่มต้นหลังย้ายกล้าอาจอยู่ในช่วง 0.5 - 1 ลิตร/ต้น/วัน และในช่วงที่กำลังออกดอกและติดผลอาจสูงถึงวันละ 2 - 3 ลิตร/ต้น/วัน
อย่างไรก็ตาม ความต้องการน้ำของเมล่อนสามารถเปลี่ยนแปลงไปใบฤดูกาลเดียวกัน ยังแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ สำหรับวิธีการให้น้ำแก่เมล่อน สามารถทำได้หลายวิธี เช่นการปล่อยน้ำเข้าข้างร่องปลูกและปล่อยให้น้ำซึมเข้าสู่แปลงจากด้านข้าง ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมที่สิ้นเปลืองน้ำและแรงงาน
การให้น้ำ ปัจจุบันนิยมใช้ระบบการให้น้ำแบบหยดซึ่งเป็นการให้น้ำแก่ต้นแตงที่ในบริเวณรากของต้นแตงแต่ละต้นโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีที่ประหยัดน้ำกว่า และยังสามารถผสมปุ๋ยและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชบางชนิดลงไปในระบบน้ำหยดได้ด้วย แต่ต้องใช้การลงทุนสูงในครั้งแรกแต่สามารถเก็บไว้ใช้ในฤดูกาลปลูกต่อๆไป
การให้ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยให้แก่เมล่อนที่ถูกวิธีและประหยัดนั้น ก่อนการให้ปุ๋ยแก่ต้นเมล่อนควรมีการตรวจวิเคราะห์ดิน เพื่อหาความอุดมสมบูรณ์ของดินเสียก่อนว่ามีอินทรีย์วัตถุ ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโปแตสเซียม ธาตุแคลเซียม และแมกนีเซียม ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชอยู่ในปริมาณเท่าใดก่อน จึงค่อยกำหนดปริมาณปุ๋ยที่จะใส่ให้แก่ดินที่ปลูกนั้นอีกครั้ง เนื่องจากความอุมสมบูรณ์ของดินในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน คำแนะนำในการให้ปุ๋ยแก่ต้นเมล่อนต่อไปนี้ จึงเป็นคำแนะนำทั่วไปสำหรับแปลงปลูกพืชที่ไม่มีผลการตรวจวิเคราะห์ดิน
การให้ปุ๋ยเคมีทางดิน ในระหว่างการเตรียมดินก่อนปลูก ได้มีการใส่ปุ๋ยรองพื้นให้แก่ต้นเมล่อนครั้งหนึ่งแล้ว แต่หลังการย้ายปลูกต้องมีการใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มเติมอีกเป็นระยะๆ ในช่วงก่อนออกดอก ช่วงกำลังออกดอกและติดผลอ่อน และช่วงก่อนผลแก่ ดังนี้ หลังย้ายปลูก 7 วัน ให้ใส่ปุ๋ย 15 - 15 - 15 ที่โคนต้นเมล่อนในปริมาณ 15 กรัม/ต้น หรือ 50 กก./ไร่ เมื่ออายุประมาณ 25 วัน และ 50 วัน หลังย้ายปลูก โรยปุ๋ย 15 - 15 - 15 อัตรา 50 กก./ไร่ และเมื่ออายุ 65 วัน หลังย้ายปลูกใช้ปุ๋ย 15 - 15 - 15 อัตรา 50 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ย 0 - 0 - 60 อัตรา 25 กก./ไร่ หว่านลงที่ร่องระหว่างแปลงปลูก ก่อนการให้น้ำผ่านทางร่องแปลง
การให้ปุ๋ยเคมีทางน้ำ หากมีการใช้ระบบน้ำหยดกับการปลูกเมล่อนแล้ว ควรที่จะใช้วิธีการให้ปุ๋ยทางน้ำแก่ต้นเมล่อน เพราะเป็นวิธีที่ให้ประสิทธิภาพในการใช้ปุ๋ยดีที่สุด ทำได้โดยการติดตั้งปั๊มปุ๋ยเข้าที่ส่วนต้นทางของระบบน้ำหยดก่อนเข้าสู่แปลงปลูก และผสมปุ๋ยลงในถังผสมขนาดใหญ่ 80 -200 ลิตร เป็นต้น เมื่อจุ่มสายดูดจากปั๊มปุ๋ยลงในถังผสมปุ๋ยและปล่อยให้ปั๊มทำงานเพื่อดูดปุ๋ยเข้มข้นขึ้นไปผสมกับน้ำที่กำลังผ่านเข้าไปในแปลงปลูกสู่ต้นพืช กลายเป็นน้ำปุ๋ยเจือจางหยดให้กับต้นเมล่อนแต่ละต้น ในความเข้มข้นดังนี้ ธาตุไนโตรเจน (N) 150 - 200 มก./ลิตร ธาตุฟอสฟอรัส (P) 30 - 50 มก./ลิตร และธาตุโปแตสเซียม (K) 150 - 200 มก./ลิตร ในช่วงหลังของการพัฒนาของผล ควรเพิ่มความเข้มข้นธาตุอาหารโปแตสเซียมให้มากขึ้นอีกเล็กน้อยและลดความเข้มข้นของไนโตรเจนที่ให้ไปพร้อมกับน้ำลง เพื่อเพิ่มความหวานให้แก่เมล่อนก่อนการเก็บเกี่ยว
ปัจจุบันปุ๋ยน้ำสำเร็จรูปที่อยู่ในรูปผงที่ละลายน้ำได้มีการนำมาจำหน่ายแล้ว มีมากมายหลายสูตรแตกต่างกันไปตามบริษัทผู้ผลิต ในช่วงแรกของการเจริญเติบโตทางใบและลำต้นก่อนการออกดอกติดผล ควรใช้สูตรปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูง เช่น 20 - 20 - 20 , 21 - 11 - 21 , 10 - 10 - 20 หรือสูตรใกล้เคียง เป็นต้น แต่ภายหลังเมื่อเริ่มออกดอกติดผลแล้ว ควรเปลี่ยนมาใช้สูตรปุ๋ยที่มีธาตุโปแตสเซียมสูงขึ้น เช่น 14 - 7 - 28 , 12 - 5 - 40 หรือสูตรใกล้เคียง เป็นต้น ความเข้มข้นในถังปุ๋ยที่จะทำการผสมเพื่อดูดไปผสมกับน้ำแล้วได้ความเข้มข้น สุดท้ายเท่ากับที่ต้องการให้กับต้นเมล่อนนั้น จะขึ้นกับอัตราการดูดปุ๋ยของปั๊มปุ๋ย และอัตราการไหลของน้ำเข้าสู่แปลงปลูกซึ่งจะแตกต่างกันไป ตามชนิดและขนาดของปั๊มปุ๋ยที่ใช้ และอัตราการไหลของน้ำเข้าสู่แปลง คำนวณจากจำนวนหัวน้ำหยดและอัตราการหยดต่อหัว
ในการนี้บริษัทผู้ขายปุ๋ยสามารถให้คำแนะนำในการผสมได้
5. การเก็บเกี่ยว
เมื่อผลเมล่อนสุกแก่ จะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายนอก คือ ในพันธุ์ที่ผิวมีร่างแหจะพบว่าร่างแหเกิดขึ้นเต็มที่คลอบคลุมทั้งผล ผิวเริ่มเปลี่ยนสีและอ่อนนุ่นลง และในบางพันธุ์เริ่มมีกลิ่นหอมเกิดขึ้น เกิดรอยแยกที่ขั้วจนในที่สุดผลจะหลุดออกจากขั้ว ในการเก็บเกี่ยวผลเมล่อนเพื่อการจำหน่ายจึงต้องเก็บเกี่ยว ในระยะที่พอดี หากเก็บเร็วเกินไปจะได้ผลเมล่อนที่อ่อนเกินไป รสชาติยังไม่หวานและมีน้ำหนักน้อย หากเก็บเกี่ยวล่าช้าไป ผิวและเนื้อภายในจะอ่อนนุ่มเกินไปไม่เหมาะสำหรับการเก็บรักษาและการจำหน่าย อายุเก็บเกี่ยวของเมล่อนที่เหมาะสมนั้นขึ้นกับพันธุ์ ซึ่งมีทั้งพันธุ์เบา ที่มีอายุการเก็บเกี่ยว 60 - 65 วัน หลังหยอดเมล็ด หรือ 30 - 35 วัน หลังดอกบาน , พันธุ์ปานกลางมีอายุเก็บเกี่ยว 70 - 75 วัน หลังหยอดเมล็ด หรือ 40 - 45 วัน หลังดอกบาน พันธุ์หนักที่มีอายุเก็บเกี่ยวเกินกว่า 80 - 85 วันหลังเพาะเมล็ดหรือ 50 - 55 วัน หลังดอกบาน
นอกจากการนับจำนวนวันแล้ว การเก็บเกี่ยวเมล่อนยังสามารถดูจากลักษณะภายนอกได้ด้วย เมล่อนที่เริ่มสุกแก่เก็บเกี่ยวได้จะเริ่มมีกลิ่นหอมในพันธุ์ที่มีกลิ่มหอมและมีรอยแยกที่ขั้วผลเกิดขึ้นแสดงว่าผลแตงกำลังจะหลุดร่วงจากต้นโดยทั่วไปมักจะเก็บเกี่ยวเมื่อเกิดรอยแยกประมาณ 50 % หรือครึ่งหนึ่งของรอบขั้วผล ซึ่งเป็นระยะที่ผิวของผลแตงยังไม่อ่อนนุ่มจนเกินไป สามารถเก็บรักษาหรือขนส่งไปจำหน่ายในตลาดได้โดยไม่กระทบกระเทือน และอยู่ตลาดได้อีกระยะหนึ่ง
เคล็ดลับการเพิ่มความหวานในผลก่อนการเก็บเกี่ยว
ก่อนการเก็บเกี่ยว 1 สัปดาห์ให้ค่อยๆ ลดปริมาณการให้น้ำแก่ต้นเมล่อนลงทีละน้อย จนถึง 2 วันก่อนเก็บเกี่ยว ให้ลดน้ำลงจนกระทั่งต้นแตงปรากฎเกิดอาการเหี่ยวในช่วงกลางวัน การทำเช่นนี้จะช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำตาลในผลเมล่อนและลดปัญหาการแตกของผลเมล่อนก่อนการเก็บเกี่ยว เมล่อนที่จัดว่ามีความหวานอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เป็นที่ต้องการของตลาด ควรมีค่าความหวานอยู่ที่ประมาณ 14 องศาบริกซ์ ขึ้นไป หรืออย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 12 องศาบริกซ์ โดยสามารถวัดได้โดยใช้เครื่องวัดความหวานคลิ๊ก ยิ่งมีค่ามากยิ่งหวานมาก และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น
การเก็บรักษาเมล่อน เมล่อนเป็นผลไม้สามารถเก็บเกี่ยวในระยะที่ผลพัฒนาเต็มที่แต่ยังไม่ถึงระยะสุกงอมและนำมาบ่นให้สุกก่อนการบริโภคได้เช่นเดียวกับมะม่วง กล้วยและมะละกอ ดังนั้นถ้าหากเก็บเกี่ยวเมล่อนที่แก่แล้วนำมาวางเก็บไว้ในสภาพอุณหภูมิห้อง (ประมาณ 27 - 30 องศาเซลเซียส) ผลเมล่อนจะเกิดการสุกงอม เนื้อผลอ่อนและเน่าเสียในที่สุด ในเวลาอันสั้น หากต้องการเก็บรักษาเมล่อนให้คงสภาพเดิมไว้ให้นานที่สุด
เพื่อรอการจำหน่ายหรือขนส่งไปจำหน่ายในสถานที่ห่างไกล ควรจะต้องเก็บเมล่อนในสภาพที่มีอากาศเย็น ประมาณ 2 - 5 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์สูงถึง 95 % จะสามารถยืดอายุการเก็บรักษาเมล่อนออกไปได้นานถึง 15 วัน ในระหว่างการขนส่งและวางจำหน่ายหากสวมผลเมล่อนไว้ในถุงตาข่ายโฟมจะช่วยป้องกันการกระแทกระหว่างกัน กันให้เกิดรอยซ้ำได้
1. หลังจากเปิดซองใช้แล้ว ใส่สารกันชื้นและหาเทปกาวมาปิดที่ปากซองให้แน่นหนา
2. นำซองไปห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมม์ 1-2 ชั้น
3. นำซองที่ห่อแล้วใส่ถุงพาสติก มัดปากให้แน่น แล้วนำเข้าตู้เย็นในช่องแช่เย็นธรรมดา จะสามารถเก็บได้นานเป็นปี
แต่ก่อนจะนำออกมาใช้ ควรนำออกมาจากตู้เย็นและทิ้งเอาไว้ในอุณหภูมิห้องอย่างน้อย 6-8 ชม. จึงนำมาเพาะครับ
โรคพืชที่สำคัญ
1. โรคราน้ำค้าง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราชนิด Pseudoperonospora ชนิดหนึ่งซึ่งระบาดในสภาพอุณหภูมิต่ำและมีความชื้นสูง อาการของโรคเกิดขึ้นบนใบเป็นแผลสีน้ำตาลอ่อน มีเส้นใยของเชื้อราสีขาวหม่นเกิดขึ้นที่ใต้ใบบริเวณที่ตรงกับแผล เมื่ออาการรุนแรง ทำให้ใบแห้ง และเถาตายได้ ในขณะที่กำลังออกดอกติดผล เป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับการปลูกเมล่อนในฤดูฝนของประเทศไทยที่มีสภาพแวดล้อมที่อำนวยต่อการระบาดของเชื้อโรค
การป้องกันก่อนการเกิดโรคในฤดูฝน ควรมีการฉีดสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา จำพวกมาเน็บ หรือ ไซเน็บ เป็นระยะๆ ทุกสัปดาห์ ถ้าหากพบว่าเชื้อราเข้าทำลายแล้วควรควบคุมอาการของโรคด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อราที่มีฤทธิ์ดูดซึม เช่น ริโดมิล สำหรับต้นที่มีอาการรุนแรงแล้ว ควรถอนต้นทิ้งแล้วนำมาเผาไฟเสีย เพื่อป้องกันการเชื้อโรคแพร่กระจายออกไปมากยิ่งขึ้น
2. โรคเหี่ยวจากเชื้อฟูซาเลียม (Fusarium wilt) เกิดจากเชื้อราชนิด Fusarium ที่อยู่ในดิน ทำให้ต้นเมล่อนเกิดอาการใบเหลืองและเหี่ยวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเชื้อโรคเข้าทำลายในท่อน้ำท่ออาหาร การรักษาทำได้ค่อนข้างลำบากเพราะเชื้อโรคอยู่ในดิน เมื่อพบว่ามีต้นเป็นโรคนี้ ควรถอนต้นที่เป็นโรคทิ้ง การปรับค่าความเป็นกรด - ด่าง ของดินให้มีค่าสูงขึ้น จะช่วยชลออาการของโรคนี้ได้
ถ้าพบว่าเกิดโรคนี้อย่างรุนแรงในพื้นที่ปลูกใด ควรงดการปลูกพืชในวงศ์แตงนี้ซ้ำในที่เดิมในฤดูติดกัน
3. โรคใบด่างจากเชื้อไวรัส ต้นแตงเกิดอาการใบด่างเหลือง หยักเป็นคลื่น ใบเล็กลง ยอดตั้งขึ้น ทำให้แตงชะงักการเจริญเติบโต ไม่ออกดอกและติดผล ถ้าพบว่าเริ่มมีต้นเมล่อนเป็นโรคนี้ ควรรีบถอนต้นนั้นทิ้ง และนำไปเผาทำลาย ในการป้องกันการเกิดโรคนั้นต้องหลีกเลี่ยงการปลูกพืชชนิดอื่นในวงศ์แตงในบริเวณใกล้เคียง และพยายามกำจัดแมลงศัตรูพืชที่เป็นพาหนะของโรคนี้ คือ แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ และเพลี้ยอ่อน โดยการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลง เป็นระยะๆ แต่ต้องงดการฉีดก่อนการเก็บเกี่ยว
4. โรคราแป้งขาว (Powdery mildew) เกิดจากเชื้อชนิดหนึ่ง ระบาดในสภาพอุณหภูมิและความชื้นสูง อาการเกิดบนใบ และผล ทำให้ใบกรอบเป็นสีน้ำตาล อาจเกิดร่วมกับโรคราน้ำค้าง ป้องกันกำจัดได้ด้วยการฉีดพ่นกำมะถันผง หรือ สารป้องกันกำจัดเชื้อราเบนโนมิล (Benomy)
สารที่ใช้ป้องกันโรคจากเชื้อรา / ไวรัส
แมลงศัตรูที่สำคัญ
1. เพลี้ยไฟ (Thrips) เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมากเท่าปลายเข็ม ตัวอ่อนมีสีแดง ตัวแก่เป็นสีดำ ดูดน้ำเลี้ยงที่ปลายยอดอ่อนของต้น ทำให้ยอดชะงักการเจริญเติบโต หดสั้น บิดเบี้ยว ระบาดมาในสภาพอากาศร้อนและแห้งของฤดูร้อน โดยมีลมเป็นพาหนะพาเพลี้ยไฟเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ป้องกันกำจัดได้ด้วยการปลูกพืชที่กันชนที่ต้านทานเพลี้ยไฟ เช่น มะระ ล้อมรอบแปลง และ ฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง แลนแนท
2. ด้วงเต่าแตง (Leaf beatle) เป็นแมลงปีกแข้ง ลำตัวยาวประมาณ 1 ซม. ปีกมีสีเหลืองปนส้ม กัดกินใบแตงให้แหว่งเป็นวงๆ ถ้าระบาดและทำความเสียหายให้กับใบจำนวนมาก ให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง เซฟวิน 85 หรือ ตั้งแต่ก่อนย้ายปลูก ให้หยอดสารเคมีกำจัดแมลงชนิดดูดซึม คือ คาร์โบฟูราน หรือฟูราดาน ที่ก้นหลุม ก่อนย้ายปลูก ซึ่งจะมีฤทธิ์ป้องกันแมลงต่างๆ ได้ประมาณ 45 วัน แต่ไม่ควรใช้สารชนิดนี้อีกในระหว่างการเจริญเติบโตและติดผล เพราะจะตกค้างในผลผลิต เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
3. หนอนชอนใบ (Leaf minor) เป็นแมลงตัวเล็กที่ชอนไชอยู่ใต้ผิวใบ กัดกินเนื้อใบเป็นทางยาวคดเคี้ยวไปทั่วทั้งผืนใบ โดยทั่วไปไม่พบว่ามีการระบาดมากในพืชตระกูลแตงเท่าใดนัก แต่ในกรณีที่มีการระบาดมาก และเกิดขึ้นในระยะแรกของการเจริญเติบโตจะทำให้พื้นที่ใบเสียหายส่งผลให้กระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตต่อไปของต้นเมล่อน วิธีการกำจัดต้องใช้สารเคมีชนิดดูดซึมเท่านั้นจึงจะได้ผล เช่น อะบาเมคติน เป็นต้น แต่ไม่ควรฉีดในระยะก่อนเก็บเกี่ยว
4. แมลงวันผลไม้ (Melon fruit fly) เป็นแมลงที่ทำความเสียหายแก่ผลไม้มากที่สุดชนิดหนึ่ง ตัวเมียจะวางไข่ในผลไม้ใกล้สุก ทำให้เกิดตัวหนอนชอนไชอยู่ในผล ทำให้เกิดแผล เน่าเสียราคา วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันคือการห่อผลก่อนที่ผลไม้จะสุกแก่
ยาป้องกันเพลี้ยไรแดง แมงหวี่ขาว ชื่อสามัญทางยา อิมิดาคลอพิต
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้สารกำจัดและป้องกันโรค
คือ 6.00 - 9.00 , 16.00 - 19.00 เพราะทั้ง2 ช่วงเวลาจะเป็นเวลาที่ปากใบจะเปิดออกมากที่สุด ต้นเมล่อนจะรับสารอาหารได้ดี
สนใจสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์เมล่อนคิโมจิสายพันธุ์แท้จากญี่ปุ่นสามารถ คลิกที่นี่ได้เลยครับ
1 พ.ย. 2562
7 เม.ย 2563
11 ก.พ. 2563
1 มิ.ย. 2562